ญี่ปุ่นจะออกธนบัตรแบบใหม่ 3 แบบ ได้แก่ 10,000 เยน, 5,000 เยน และ 1,000 เยน โดยจะเริ่มใช้ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นการออกธนบัตรแบบใหม่ครั้งแรกในรอบ 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2547
รายละเอียดธนบัตรใหม่
- ธนบัตร 10,000 เยน
- ด้านหน้า: จะมีภาพของคุณเออิจิ ชิบุซาวะ (Eichi Shibusawa 1840 – 1931) บิดาแห่งทุนนิยมของญี่ปุ่น ผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างบริษัทต่างๆ มากกว่า 500 แห่งในญี่ปุ่น
- ด้านหลัง: สถานีโตเกียว (อาคาร Marunouchi) อาคารอิฐสีแดงอันโด่งดัง สวยงาม และสำคัญทางประวัติศาสตร์
- ขนาด: เท่ากับธนบัตร 10,000 เยนปัจจุบัน (76 x 160 มิลลิเมตร)
- ธนบัตร 5,000 เยน
- ด้านหน้า: จะมีภาพของคุณอุเมโกะ สึดะ (Umeko Tsuda 1864 – 1929) ผู้ก่อตั้งโรงเรียนกวดวิชาเอกชนสตรี Joshi Eigaku Juku (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัย Tsuda) มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาของผู้หญิงในระดับอุดมศึกษา
- ด้านหลัง: ดอกฟูจิ หรืออีกชื่อก็คือ ดอกวิสทีเรีย ดอกไม้สีม่วงสวยงาม ห้อยระย้า ที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นมาหลายร้อยปี และมักจะปรากฏในบันทึก หรือตำราโบราณต่างๆ
- ขนาด: เท่ากับธนบัตร 5,000 เยนปัจจุบัน (76 x 156 มิลลิเมตร)
- ธนบัตร 1,000 เยน
- ด้านหน้า: จะมีภาพของคุณชิบะซาบุโระ คิตะซาโตะ (Shibasaburo Kitasato 1853 – 1931) นักวิทยาแบคทีเรียคนแรกของญี่ปุ่น และได้รับยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่” อีกด้วย ผู้ค้นพบวิธีรักษาโรคบาดทะยัก และยังเป็นผู้ค้นพบเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคกาฬโรค และยังเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันต้นคว้าวิจัยโรคติดต่อเอกชนแห่งแรกของประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
- ด้านหลัง: ภาพ “คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานางาวะ” ผลงานศิลปะชื่อดังจากภาพชุด ทัศนียภาพ 36 มุมของภูเขาฟูจิ (Thirty-six Views of Mount Fuji) ของคุณคัตสึชิกะ โฮะคุไซ (Katsushika Hokusai) ศิลปินยุคเอโดะ ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก รับรองว่าถ้าได้เห็นภาพ จะต้องร้องอ๋ออย่างแน่นอน
- ขนาด: เท่ากับธนบัตร 1,000 เยนปัจจุบัน (76 x 150 มิลลิเมตร)
เทคนิคป้องกันการปลอมแปลงขั้นสุด “ครั้งแรกของโลก”
- โฮโลแกรมภาพหมุนได้ 3 มิติ ครั้งแรกของโลก (3D Hologram)
มีการนำโฮโลแกรมแบบใหม่มาใช้ โดยเทคโนโลยีขั้นสูงนี้จะ แสดงภาพบุคคลหมุนได้ 3 มิติ เป็นการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้กับธนบัตรเป็น ครั้งแรกของโลกด้วยนะ- แบบแถบโฮโลแกรม (3D holographic stripe) บนธนบัตร 10,000 เยน และ 5,000 เยน
- แบบแพทช์โฮโลแกรม (3D holographic patch) บนธนบัตร 1,000 เยน
- การพิมพ์ร่องลึกพิเศษ (Deep intaglio printing)
ใช้การพิมพ์ร่องลึกบนลวดลายหลักบนธนบัตร เพื่อสร้างความรู้สึกขุรขระ เช่นภาพบุคคล หรือทิวทัศน์ต่างๆ และสำหรับตัวเลขบนธนบัตร และเครื่องหมายพิเศษจะใช้เทคนิคพิเศษที่เรียกว่า “การพิมพ์ร่องลึกพิเศษ (Deep intaglio printing)” ซึ่งทำให้หมึกนูนขึ้นอย่างมาก ทำให้รู้สึกสากขึ้นเมื่อสัมผัส
- ลายน้ำความละเอียดสูง (High-Definition Watermark)
มีการนำลายน้ำความละเอียดสูงมาใช้บริเวณภาพบุคคล โดยมีลวดลายที่ต่อเนื่องสวยงาม และเส้นที่ละเอียดมากกว่าเดิม
- ลายน้ำแบบแท่ง (Watermark-bar-patterns)
มีลายเส้นแท่งๆ พิมพ์อยู่บนธนบัตร จำนวนแท่งจะขึ้นอยู่กับราคาของธนบัตร- 3 แท่งบนธนบัตร 10,000 เยน
- 2 แท่งบนธนบัตร 5,000 เยน
- 1 แท่งบนธนบัตร 1,000 เยน
- ลายน้ำแบบซ่อน (Latent image)
เอียงธนบัตรแล้วจะเห็นตัวเลขราคา หรือคำว่า “NIPPON” ปรากฏขึ้นมา
- หมึกประกายมุก (Pearl ink)
เมื่อเอียงธนบัตรแล้ว จะเห็นแถบสีชมพูวาวที่ขอบทั้งสองด้าน
- ตัวอักษรขนาดเล็ก (Microprinting)
ใช้แว่นขยายส่อง จะเห็นคำว่า “NIPPONGINKO” ตัวเล็กจิ๋วขนาดที่ เครื่องถ่ายเอกสาร หรือเครื่องปรินท์ก็ไม่สามารถก็อปปี้ หรือพิมพ์ออกมาได้
- หมึกเรืองแสง (Luminescent ink)
ส่องธนบัตรด้วยไฟแบล็คไลท์ (ultraviolet light) ตราประทับของรัฐบาลญี่ปุ่นจะเรืองแสงขึ้นมา
การออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design)
- ลายจุดสำหรับผู้พิการทางสายตา (Tactile marks)
ลายจุดเหล่านี้ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถคลำ และแยกความแตกต่างของธนบัตรได้ โดยจะมีตำแหน่งและจำนวนจุดที่แตกต่างกันตามราคาธนบัตร
- ตัวเลขราคาขนาดใหญ่ขึ้น (Enlarged numerals indicating face value)
ตัวเลขราคาบนธนบัตรมีขนาดใหญ่ขึ้น มองเห็นได้ง่าย
- เปลี่ยนตำแหน่งของโฮโลแกรม และลายน้ำ (Shape and position of holograms and watermarks)
เปลี่ยนตำแหน่ง และรูปร่างของโฮโลแกรม และลายน้ำจะแตกต่างกันตามราคาธนบัตร เพื่อช่วยในการแยกประเภทธนบัตรได้ง่าย และแม่นยำยิ่งขึ้น